2 วัน 1 คืน กับเมืองชัยภูมิ

741 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชัยภูมิ เที่ยวได้ทั้งปี มากี่ทีก็แฮปปี้เว่อร์ 

ใครว่า ถ้าอยากมาเที่ยวชัยภูมิต้องรอแค่ทุ่งดอกกระเจียว จริงๆแล้วเรามีที่เที่ยวเยอะแยะ รอแต่เพียงให้เดินทางมาสัมผัส น้อยคนนักจะรู้ว่า แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ แน่นอนว่า ตั้งใจมา เก็บกระเป๋า ออกเดินทาง เที่ยวได้ตลอดปี ลองดูกันมั้ยว่า 2 วัน 1 คืน ไปไหนได้บ้าง แบบไม่ง้อวันลา

 

DAY 1

06.00  : ออกจากรุงเทพฯ เดินทางมุ่งสู่ชัยภูมิ

11.00    : พระธาตุชัยภูมิ

พระมหาธาตุรัชมงคลเจดีย์สิริชัยภูมิ หรือ พระธาตุชัยภูมิ ตั้งอยู่อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดอรุณธรรมสถาน บนเนินสูงของภูแลนคาเป็นที่บรรจุพระธาตุ มีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีศิลปทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มองเห็นวิวแบบพาโนรามารอบทิศที่สดชื่นสบายตา  ที่นี่ยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ผู้คนที่สนใจในการฏิบัติธรรมเข้ามาปฏิบัติธรรม เนื่องจากว่าเป็นวัดที่สงบ บรรยากาศร่มรื่นและแวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสวยงาม

รายละเอียดเส้นทาง

https://qrgo.page.link/jWfMZ

13.00   : น้ำตกตาดโตน

น้ำตกตาดโตน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชัยภูมิ น้ำตกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติตาดโตน มีน้ำไหลตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจะสวยงามเป็นพิเศษ ด้านบนเป็นธารน้ำไหลผ่านลานหินสองฝั่งธารร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เหมาะที่จะนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติและเล่นน้ำ ด้านบนน้ำตกมีสภาพเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร และยาวไปตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งน้ำที่สามารถเล่นน้ำได้เป็นจุดๆ และไหลลงมาตกที่หน้าผาเป็นน้ำตกตาดโตนซึ่งมีความสูงประมาณ 6 เมตร และกว้าง 50 เมตร เมื่อมาถึงบริเวณทางเข้าต้องเดินเท้าเข้าไปน้ำตกประมาณ 200 เมตร

รายละเอียดเส้นทาง

https://qrgo.page.link/meK8T

16.00   : มอหินขาว

มอหินขาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา บ้านวังคำแคน ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วยกลุ่มหินทรายสีขาววางเรียงรายคล้ายกับ “สโตนเฮนจ์” ในประเทศอังกฤษ มอหินขาว จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า “สโตนเฮนจ์เมืองไทย” เป็นสวนหินธรรมชาติ ประกอบไปด้วยเสาหิน 5 ต้น ซึ่งเกิดจากการสะสมของตะกอนทรายและดินเหนียวแข็งตัวกลายเป็นหิน ลักษณะของหินกลุ่มต่างๆ เกิดจากเคลื่อนไหวของเปลือกโลกบีบอัดจนเกิดการคดโค้ง แตกหัก กัดเซาะทั้งแนวตั้งและแนวนอน สร้างสรรค์เป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการของผู้พบเห็น

รายละเอียดเส้นทาง

https://qrgo.page.link/rVeCL

17.00   : ผาหัวนาค

จุดชมวิว ผาหัวนาค อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของมอหินขาว ใช้เส้นทางเดินทางเดียวกันกับมอหินขาวซึ่งเป็นทางราดยางตลอด ในฤดูฝนจะมีดอกไม้ป่าบานสะพรั่ง และมีโอกาสได้เห็นทะเลหมอกในยามเช้า หรือหากใครต้องการชมพระอาทิตย์ตกดิน ก็สามารถมาชมได้สวยงามไม่แพ้กัน บริเวณนี้เป็นจุดที่มีความสูงถึง 905 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ้งเป็นจุดชมวิวที่สวยมาก อากาศเย็นตลอดทั้งวันหัวนาคอยู่ห่างจากมอหินขาวกลุ่มหินโขลงช้างประมาณ 4 กิโลเมตร

รายละเอียดเส้นทาง

https://qrgo.page.link/KAHz2

18.00   : อ่างเก็บน้ำช่อระกา

อ่างเก็บล้ำลำช่อระกา อำเภอเมืองชัยภูมิ ไม่ไกลจากในเมืองมากก่อนถึงวัดสระหงส์ สามารถถีบจักรยานไปถึง ทางสะดวกสบาย ช่วงเย็นๆพระอาทิตย์ตกจะงามมาก บรรยากาศดีมากทีเดียว

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/n44N6

19.00   : เข้าที่พักในอำเภอเมือง

 

DAY 2

07.00  : ปรางกู่

ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่สำคัญ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีสภาพสมบูรณ์มาก และยังเป็นที่เคารพของคนในจังหวัดชัยภูมิอีกด้วย แม้ว่าปรางค์กู่ไม่ใหญ่ แต่เต็มไปด้วยความงดงามสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากขอมเชื่อกันว่าเป็นอโรยาศาล(โรงพยาบาล) ในสมัยก่อน คำว่าปรางค์กู่นั้น เป็นชื่อเรียกของกลุ่มอาคารที่มีแผนผังและลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่ เชื่อกันว่าเป็นอโรคยาศาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761)

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/MPqeu

08.00    : พระตำหนักเขียว

ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  มีพระตำหนักเขียว ซึ่งเคยเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เดิมพระตำหนักเขียวเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ต่อมาในปี 2498 ได้ปรับปรุงเป็นพระตำหนักที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2498  ซึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากจังหวัดนครราชสีมา ถึงสี่แยกหนองบัวโคก แล้วหยุดประทับให้ราษฎรอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังตัวจังหวัดชัยภูมิเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร์ต่อไป

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/yRtbN

 

09.00  : Street art

 
เดินเล่นเพลินๆช่วงสายๆ ถ่ายรูปกับ street art ที่ซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ
บนถนนย่านบ้านไม้เมืองเก่ากลางใจเมืองชัยภูมิ

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/tAf12

 

10.00  : ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

 
ใบเสมาบ้านกุดโง้ง เป็นเสมาหินทรายศิลปะทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่พบในภาคอีสาน เป็นโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงชุมชนในยุคสมัยทวาราวดี ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนาลัทธิหินยานได้มีการเผยแผ่เข้ามา ซึ่งใบเสมานี้ ทำด้วยหินทรายแดง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางชิ้นมีความสูงกว่า 2 เมตร ด้านบนมีปลายแหลม มีทั้งเสมาแบบไม่มีลวดลาย และแบบสลักลวดลายเป็นภาพต่างๆ ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่าง ๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน

นอกจากนี้ใบเสมาบางแผ่นปรากฏมีจารึกอักษรปัลลวะของอินเดียใต้อีกด้วย

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/eDTSH

 

11.00  : ศาลเจ้าพ่อพระยาแล

กราบลาขอพรเจ้าพ่อพระยาแลก่อนกลับบ้าน

 
ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งอยู่ริมหนองปลาเฒ่า ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร แยกทางเข้าไปจากถนนใหญ่สายชัยภูมิ บ้านเขว้า เลี้ยวขวาเข้าสู่ริมหนองปลาเฒ่าที่ริมน้ำแห่งนี้มีต้นมะขามใหญ่ซึ่งกล่าวกันว่าเจ้าพระยาและถูกทหาร เวียงจันทร์ ฆ่าที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2369 มีศาลสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่ใต้ต้นมะขาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ชาว จังหวัดชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างศาลพระยาภักดีชุมพล ขึ้นประดิษฐานรูปหล่อของท่านไว้ภายใน เพื่อเป็น ที่เคารพสักการะบูชาของชาวเมืองชัยภูมิ

การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำตลอดมา และระลึกถึงว่าเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญของท่าน ต่อมาชาวเมืองชัยภูมิจึงเรียกขานท่านด้วยความเคารพว่า "เจ้าพ่อพญาแล" และได้มีการสร้างศาลไว้ตรงสถานที่ที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ถูกประหารชีวิต ที่บ้านหนองปลาเฒ่าแห่งนี้

รายละเอียดเส้นทาง
https://qrgo.page.link/GU97j

 

12.00  : ออกจากชัยภูมิ

 

18.00  : ถึงกรุงเทพฯ
 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้